ธงชาติ ตราแผ่นดินและเพลงชาติจีน 国旗、国徽和国歌

ธงชาติ  (国旗)

            ธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีชื่อว่าธงแดงดาว ๕ ดวง ลักษณะธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง ขนาด ๒ คูณ ๓ มุมบนด้านซ้ายประดับด้วยดาว ๕ ดวง ดวงใหญ่ที่สุดอยู่ตรงมุงซ้ายสุด รายล้อมด้วยดาวบริวาร ๔ ดวง  แฉกหนึ่งของดาวบริวารทุกดวง ชี้ตรงไปยังดวงใหญ่ ส่วนปลอกคันธงเป็นสีขาว  พื้นธงสีแดงหมายถึงการปฏิวัติ(革命) ดาวสีเหลืองบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชนชาติจีนเป็นผิวเหลือง ดาวดวงใหญ่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์(共产党)แห่งประเทศจีน  อันเป็นพรรคที่กุมอำนาจรัฐของประเทศ  ดาวบริวาร ๔ ดวง หมายถึงชนชั้น ๔  ชนชั้นซึ่งประกอบเป็นประชากรจีนในสมัยนั้น  อันได้แก่ ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนา ชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ ภาพดาวบริวาร ๔ ดวง รายล้อมดาวดวงใหญ่  หมายถึงความสามัคคีของประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ดาว ๕ ดวงเรียงรายอยู่บนมุมซ้ายของผืนธง  เปรียบเสมือนหมู่ดาวเปล่งประกายส่องแสงสว่างลงสู่พื้นปฐพีอันกว้างใหญ่ไพศาล          ธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความเป็นมาดังนี้ เมื่อกองทัพปลดแอก(解放军)ประชาชนจีน  เข้ายึดครองนครหนานจิง(南京) (นานกิง) จากรัฐบาลก๊กมิ่นตั๋งได้ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๙ ยุคสมัยของเจียงไคเช็ค(蒋介石)บนผืนแผ่นดินใหญ่ก็สิ้นสุดลง ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ร่วมกับผู้แทนของพรรคประชาธิปไตยต่างๆ องค์การสมาคมต่างๆ นักประชาธิปไตยที่ไม่สังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมือง ผู้แทนของประชาชนส่วนน้อยของประเทศ และผู้แทนของชาวจีนโพ้นทะเลได้ร่วมประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติเพื่อร่วมหารือการสถาปนาประเทศจีนใหม่ ที่ประชุมได้ตั้งคระกรรมการพิจารณารูปแบบธงชาติและตราแผ่นดินขึ้นคณะหนึ่ง  ต่อมาในเดือนกรกฎาคม คณะกรรมการชุดนี้ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนส่งรูปแบบธงชาติเข้าประกวด มีผู้ส่งส่งภาพเข้าประกวดถึง ๓,๐๑๒ ภาพ คณะกรรมการได้คัดเลือกไว้ ๓๘ ภาพ และให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาการเมืองพิจารณา  ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ธงแดงประดับดาว 5 ดาว ที่ออกแบบโดยนายจงเหลียนซง()เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดและได้ประกาศให้ใช้ธงแดงดาว 5 ดวง เป็นธงประจำชาติจีน เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ.1949 และในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกันนี้ ก็ได้มีการเชิญธงแดงประดับดาว 5 ดวง ขึ้นสู่ยอดเสาธง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในนครเป่ย่จิง (ปักกิ่ง) อันเป็นการประกาศต่อชาวโลกว่าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้นแล้ว           ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลมีประกาศให้ประดับธงชาติจีนไว้บนอาคาร สถานที่ทำการของรัฐบาลและสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลจีนซึ่งประจำ ณ ต่างประเทศทุกประเทศ รวมทั้งเรือรบ เรือสินค้า เดินสมุทรของจีน ส่วนอาคารบ้านเรือนประชาชน ก็ให้ประดับธงชาติในวันเทศการแห่งชาติ เช่น วันชาติ เป็นต้น

ตราแผ่นดิน  (国徽)

             ตราแผ่นดิน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตรงกลางเป็นรูปพลับพลาเทียนอันเหมิน(天安门) ภายใต้รัศมีดาว 5 ดวง ล้อมด้วยรวงข้าวและฟันเฟือง          เดือนกรกฎาคม คศ 1949 หลังจากที่ได้ประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปส่งรูปแบบตราแผ่นดินเข้าประกวดแล้ว ภายใต้ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน ก็มีผู้ส่งแบบเข้าประกวดกว่าพันแบบ แต่แบบที่ส่งเข้าประกวดนั้นไม่ได้เข้ารอบเลยแม้แต่แบบเดียว คณะกรรมการคัดเลือกจึงได้ขอความเห็นจากบุคคลในวงการต่างๆ ในที่สุด ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ตราแผ่นดินของจีน ควรจะประกอบด้วยภาพพลับพลาเทียนอันเหมิน ฟันเฟือง รวงข้าวสาลีและรวงข้าวเจ้ารวมอยู่ในภาพเดียวกัน เมื่อมีมติเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ได้มอบให้ศาสตราจารย์เกาจวง แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา(清华大学)รับไปดำเนินการ  ตราแผ่นดินที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์เกาจวงนี้ มีกรอบรวงข้าวสาลีกับรวงข้าวเจ้าขดเข้ากันเป็นรูปวงกลม มีฟันเฟืองทับตรงก้านรวงข้าวสองฟ่อนบรรจบกัน มีริบบิ้นผูกเป็นปมตรงกลางฟันเฟือง สอดชายเข้าไปในฟ่อนข้าวทั้งข้างซ้ายและข้างขวา และปล่อยชายริบบิ้นห้อยเป็นระย้า ริบบิ้นแบ่งฟันเฟืองออกเป็นซีกบนและซีกล่าง ภายในวงกลมเป็นรูปพลับพลาเทียนอันเหมิน มีดาว 5 ดวงประดับอยู่เหนือพลับพลาเทียนอันเหมิน ตราแผ่นดินนี้ใช้สีแดงและสีทองเป็นพื้น ซึ่งก็คือ รวงข้าว ดาว 5 ดวง พลับพลาเทียนอันเหมิน ฟันเฟืองเป็นสีทอง ส่วนริบบิ้นกับพื้นวงในเป็นสีแดง ทั้งนี้เพราะชาวจีนนิยมว่าสีทองกับสีแดงล้วนเป็นสีสิริมงคง          การใช้พลับพลาเทียนอันเหมินเป็นสัญลักษณ์ของประชาชนจีน เพราะพลับพลาเทียนอันเหมินนั้น ตั้งอยู่ใจกลางนครปักกิ่ง อันเป็นแหล่งกำเนิด ขบวนการ 4 พฤษภาคม (五四运动) ซึ่งเป็นขบวนการของประชนและนักศึกษาทั่วประเทศ ต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยม และการกดขี่ของชนชั้นศักดินา          ที่ประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ได้ลงมติให้ใช้ตราแผ่นดินนี้เป็นตราประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1950 โดยกำหนดให้ติดตราแผ่นดินไว้ตรงกลางเหนือประตูใหญ่ของที่ทำการรัฐบาล ที่ทำการสภาที่ปรึกษาการเมืองทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สถานเอกอัครราชทูต และกงสุลจีนที่ประจำ ณ ต่างประเทศ

เพลงชาติจีน  (国歌)         

             ลุกขึ้นเถิด ผู้ไม่ยอมเป็นทาสเขาทั้งมวล เอาเลือดเนื้อของเราสร้างเป็นกำแพงยังกษ์ใหม่ของเราขึ้น ประชาชาติจีนตกอยู่ในภาวะคับขันแห่งความเป็นความตาย ทุกคนถูกบังคับให้ต้องเปล่งเสียงสุดท้ายออกมา ลุกขึ้นเถิด ๆ ๆ เราทั้งผองจงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฝ่าห่ากระสุนของข้าศึก รุดหน้าไป ๆ ฝ่าห่ากระสุนของข้าศึก รุดหน้าไป ๆ ๆ           เพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนนี้ เดิมชื่อ เพลงมาร์ชกองทหารอาสา (义勇军进行曲) ประพันธ์เนื้อร้องโดยเถียนฮั่น(田汉)และเนี่ยเอ่อร์(聂耳)เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง เพลงมาร์ชกองทหารอาสา ประพันธ์ขึ้นเมื่อ คศ 1935 เพลงนี้เดิมเป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง บุตรธิดาในกลียุค ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทหารญี่ปุ่นยกพลเข้ารุกราน เข่นฆ่าประชาชน 3 มณฑลในภาคอีสานของจีน ในช่วงทศวรรษ 1930 ในยามนั้น ประชาชาติจีนกำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน แห่งความเป็นความตาย เบื้องหน้าชะตากรรมอันเลวร้ายนี้ ประชาชนทั้งชาติได้ร่วมแรงร่วมใจต่อต้านข้าศึกด้วยความองอาจกล้าหาญ เพลงมาร์ชกองทหารอาสาซึ่งเป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวต่อสู้ศัตรู ก่อเกิดความรู้สึกรักชาติ และยอมเสียสละแม้ชีวิต ประชาชนทั้งประเทศลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อสู้กับญี่ปุ่น ศัตรูผู้รุกรานแผ่นดินจีน          เนื้อเพลง เพลงมาร์ชกองทหารอาสา มีความหมายลึกซึ้ง ไพเราะจับใจคนทั้งชาติ มีทำนองและจังหวะเร้าใจ ให้เกิดพลังความกล้าหาญ ความรักชาติ ยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อเป็นชาติพลี เพื่อขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศจีน เนื้อเพลงนี้ยังแฝงพลังแห่งชีวิตอันแข็งแกร่งให้สถิตอยู่ในจิตและวิญญาณของประชาชนทั้งชาติ ด้วยเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้คนทั้งหลาย แม้จะดำรงชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ในยามสันติแล้ว ก็ไม่ลืมภาวะอันวิกฤตของประเทศชาติในอดีต จงรักภักดีต่อประเทศชาติตลอดไป สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ได้มีมติให้ใช้ เพลงมาร์ชกองทหารอาสา  นี้ เป็นเพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่นั้นมา  

ใส่ความเห็น